หนึ่งในเรื่องน่าหนักใจของเหล่าคนทำงานก็คือ “การสอบสัมภาษณ์เข้าทำงาน” เป็นกังวลและเกิดคำถามมากมาย ต้องเตรียมตัวอย่างไร ต้องตอบคำถามแบบไหน ต้องวางตัวอย่างไร เตรียมตัวดีก็มีชัยไปกว่าครึ่งค่ะ เพราะอย่างน้อย การเตรียมพร้อมก็จะช่วยให้คุณไม่ตื่นเต้น จนทำให้ผลการสัมภาษณ์ต้องการเป็นประสบการณ์เลวร้ายในชีวิตไปแทน เรามาดูกันค่ะว่า การเตรียมพร้อมก่อนการสัมภาษณ์จะต้องทำอย่างไรบ้าง
การแต่งกาย
อันนี้เป็นสิ่งที่เรามองข้ามไปไม่ได้เลย เราควรจะต้องแต่งตัวให้ดูสะอาดสุภาพเรียบร้อย และเหมาะกับตำแหน่งที่เราสมัครไป น้ำหอมก็ใส่แต่พองาม ใส่มากไปจากหอมจะกลายเป็นฉุน คุณผู้ชายอาจใส่เสื้อเชิ้ตสีพื้น สอดเสื้อไว้ในกางเกง และใส่รองเท้าหุ้มส้น ส่วนคุณผู้หญิงก็อาจใส่ชุด ทำงานที่ดูเรียบร้อย ขอแนะนำว่าใส่ประโปรงจะดูเรียบร้อยมากยิ่งขึ้น ส่วนน้องๆ ที่เพิ่งจบออกมาก็จะควรจะใส่ชุดทำงานด้วย เพื่อเป็นการฝึกการแต่งกาย ไปด้วยในตัว
การเตรียมตัวก่อนสัมภาษณ์
รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง เป็นคำที่ไม่ว่าเวลาจะผ่านมานานแค่ไหนก็ยังใช้ได้อยู่เสมอ ดังนั้น เราจึงต้องเตรียมหาข้อมูลทั้งหมดที่เกี่ยวกับงานและบริษัทที่เราไปทำงานให้พร้อม ว่าตำแหน่งที่เราไปสมัครมีหน้าที่รับผิดชอบอะไรบ้าง ความเป็นมา ระบบการบริหาร ของบริษัทนั้นเป็นอย่างไร ข้อมูลด้านการเดินทาง ที่ตั้งบริษัท คอนเฟิร์มเวลาที่นัดสัมภาษณ์ มีการซักซ้อมการถูกสัมภาษณ์ กับคนใกล้ชิด หรือหน้ากระจก ให้ลองคิดดูว่าถ้าคุณเป็นผู้สัมภาษณ์ คุณจะทำอย่างไร จะถามคำถามแบบไหน ต้องการคนแบบไหนเข้าทำงาน และที่สำคัญต้องนอนหลับอย่างเพียงพอ มื้อเย็นไม่ควรทานอาหารรสชาติจัดจ้านหรือของแสลงเพราะอาจจะทำให้ท้องเสียจนไม่พร้อมสัมภาษณ์ได้ ถ้ามีสัมภาษณ์เช้าก็ไม่ควรละเลยมื้อเช้า ควรทานอาหารจำพวกย่อยง่าย เช่นโจ๊ก งดอาหารพวกนม ของมัน และเครื่องดื่มจำพวกน้ำอัดลมเพราะจะทำให้ท้องอืดและมีอาการเรอได้ หลังทานอาหารควรตรวจสอบลมหายใจ กลิ่นปาก และกลิ่นกายให้สะอาดสดชื่น
ควรเตรียมอะไรไปบ้าง
เราควรจะเตรียมเอกสารทั้งหมดให้พร้อมก่อนวันสัมภาษณ์นะคะ ไม่ใช่ไปเตรียมตอนรุ่งเช้า หรือคืนก่อนวันสัมภาษณ์ เพราะการเร่งรีบอาจจะทำให้ข้อมูลสำคัญบ้างอย่างตกหล่นและการเป็นความผิดพลาดและอาจจะทำให้คุณไปสัมภาษณ์สายและต้องพลาดการสัมภาษณ์ครั้งนี้ก็ได้ ดูรายละเอียดให้ชัดเจน ว่าต้องเตรียมอะไรไปบ้าง เช่น สำเนาเรซูเม่ รูปถ่าย สำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน ตัวอย่างผลงาน ใบรับรองผลการศึกษา เป็นต้น
เดินทางไปถึงที่สัมภาษณ์
ต้องหาข้อมูลให้ชัดเจน และต้องแน่ใจว่าเขานัดสัมภาษณ์ที่ใด สอบถามให้แน่ชัดในเรื่องของ ที่ตั้งบริษัทสายรถเมล์ หรือรถไฟฟ้าที่ผ่าน และถ้าไม่แน่ใจก็ขอให้เขาแฟกซ์แผนที่มาก็ได้ค่ะและเพื่อความไม่ประมาทให้เดินทางไปดูล่วงหน้าก่อน เพราะเป็นที่ทราบดีว่าการจราจรของบ้านเมืองเรานั้นไม่แน่ไม่นอนเลยจริง ๆ ดังนั้นคุณจึงควรวางแผน ในเรื่องของเดินทางให้ดี และจะให้ดีที่สุดควรเดินทางไปถึงที่สัมภาษณ์ล่วงหน้าประมาณสัก 15 นาที จะทำให้เรามีสมาธิ และมีเวลาเตรียมตัวมากขึ้น แต่ถ้าไปถึงล่วงหน้าเป็นชั่วโมง ก็ดีแต่อาจจะทำให้คุณรอนานอาจเกิดความหงุดหงิด เสียสมาธิได้ และควรไปคนเดียว ถ้าไม่จำเป็นอย่าพาผู้อื่นไปด้วยเยอะจะทำให้เราพะวง และหากในวันที่นัดสัมภาษณ์คุณติดธุระจำเป็นจริง ๆ ควรโทรแจ้งขอเลื่อนการสัมภาษณ์ก่อนวันสัมภาษณ์จริง 1 วันนะคะ
นั่งรอสัมภาษณ์
ช่วงก็พยายามทำใจให้สบาย และก็ควรจะใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ด้วยการทบทวนความรู้รอบตัวต่าง ๆ ถ้าได้ติดต่อกับเจ้าหน้าที่ก็ควรพูดคุยด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้มสดใส อ๋อระหว่างนั่งรอก็นั่งให้มันเรียบร้อยหน่อยครับ อย่ากระดิกเท้า นั่งถ่างขา นั่งยืดขา และก่อนเข้าห้องอย่าลืมปิดมือถือให้เรียบร้อยนะคะ ถ้าไปจับโปเกม่อนในห้องสัมภาษณ์ก็คงดูไม่ดีสักเท่าไร
เมื่อถูกเรียกตัวเข้าสัมภาษณ์
ก่อนเข้าห้องสัมภาษณ์ลองหายใจลึก ๆ แต่อย่ามากอาจหน้ามืดก่อน (และก็ควรบอกกับตัวเอง เรายอด เราเยี่ยม เราทำได้ สร้างขวัญและกำลังใจ ห้ามคิดเด็ดขาดว่าตัวเองจะทำไม่ได้ ) ก่อนเข้าห้องสัมภาษณ์ลองหายใจลึก ๆ แต่อย่ามากอาจหน้ามืดก่อน ถ้ามีประตูควรเคาะประตูเสียก่อนตามมารยาท ยกมือไหว้ด้วยท่าทางสุภาพ ควรไหว้ประธานหรือผู้ที่มีตำแหน่งสูงสุดเพียงผู้เดียวถ้านั่งอยู่หลายคน โดยทั่วไปมักนั่งตรงกลางเรื่องนี้คงต้องใช้ไหวพริบของแต่ละคนช่วยนะคะ แล้วอย่าเพิ่งนั่งจนกว่าจะได้รับอนุญาต หรือ คำเชิญจากผู้สัมภาษณ์ กล่าวขอบคุณครับแล้วนั่งให้หัวใจเต้นเบาลง แต่ถ้าผู้สัมภาษณ์ยังไม่เชิญให้นั่งแล้วคุณรู้สึกว่าลมมันเย็นหรือยืนนานเกินไปแล้วดิฉันว่าคุณอนุญาตนั่งก็ได้ค่ะ กล่าวขอบคุณครับ พอนั่งแล้วก็จัดวางตัวเองอยู่ในที่เรียบร้อย หลังห้ามงอ หน้ามองตรง และที่สำคัญยิ้มสยาม มีสายตาท่าทางที่เป็นมิตร ห้ามหยิ่ง ไม่อย่างนั้นจากความประทับใจแรกพบจะกลายเป็นเกลียดแรกพบเอาได้ค่ะ
การวางตัวในขณะสัมภาษณ์
ทำหน้ายิ้มไว้ สบสายตาผู้สัมภาษณ์ มีหลายคนชอบมองเพดานหรือมองตามพื้น ถ้าคนสัมภาษณ์มีหลายคนก็ควรแจกจ่ายสายตาให้ทั่วถึงด้วยแต่ก็เน้นไปที่คนใหญ่คนโต ควรนั่งในท่าสุภาพ ไม่เกร็ง วางแขนไว้ที่ตัก อย่าสั่นขา การตอบคำถามควรลงท้ายด้วย "ครับ", "ค่ะ" เสมอ ไม่ควรตอบเฉพาะคำถามห้วน ๆ
การตอบคำถาม
จงตอบคำถามด้วยความมั่นใจ ฉะฉาน พูดให้เป็นธรรมชาติด้วยเสียงที่พอเหมาะอย่าค่อย หรือดังเกินไป จงพูดเท่าที่จำเป็นอย่าคุยโม้โอ้อวด หรือถ่อมตนมากเกินไป ห้ามพาดพิงให้ร้ายพูดถึงคนอื่นในแง่ลบ จงพูดในสิ่งที่เป็นความจริงและสิ่งที่เกี่ยวข้องกับคำถามและเป็นประโยชน์สำหรับคุณให้มากที่สุด ดังนั้นเราก็ควรจะฝึกพูดกับตัวเองหรือหน้ากระจกด้วยนะคะ เพื่อจะได้ไม่ประหม่า
น้ำเสียงบ่งบอกถึงความมั่นใจ และมีพลัง แต่ระวังอย่าให้ดูแข็งกร้าว ไม่ควรพูดสอดแทรกในขณะที่ผู้สัมภาษณ์กำลังพูด แสดงความกระตือรือร้นสนใจในตำแหน่งงานและบริษัท ไม่ตอบคำถามแค่เพียง “ใช่” หรือ “ไม่ใช่” แต่ควรอธิบายหรือยกตัวอย่างเพิ่มเติม เพื่อให้เห็นถึงคุณสมบัติ ทักษะ และความสามารถในการทำงานของคุณอย่างชัดเจน
แสดงให้เห็นว่าคุณหาข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทและอุตสาหกรรมมาล่วงหน้า คิดให้รอบคอบก่อนตอบคำถาม ไม่จำเป็นต้องรีบร้อน สามารถทิ้งระยะสำหรับการใช้ความคิดก่อนตอบได้ โดยการพูดทวนคำถาม หรือให้ผู้สัมภาษณ์ช่วยทวนคำถามอีกครั้งหนึ่ง
เมื่อผู้สัมภาษณ์งานเปิดโอกาสให้ถาม ควรถามคำถามผู้สัมภาษณ์เพื่อแสดงความสนใจในงาน บริษัท หรืออุตสาหกรรมนั้น ๆ การไม่ถามจะทำให้ผู้สัมภาษณ์มองว่าขาดความกระตือรือร้น
หลีกเลี่ยงการใช้คำศัพท์เฉพาะกลุ่มต่าง ๆ นานา เช่น มันเริ๋ดจริง เกรียน ฟิน พีค ฯลฯ แล้วอีกอย่างคือห้ามเถียง ถึงเถียงชนะแต่เราก็อาจจะตกสัมภาษณ์ก็ได้การตอบคำถามทุกคำถามควรจะพูดความจริง เพราะว่าคนสัมภาษณ์เขามีประสบการณ์
และถ้าผู้สัมภาษณ์เกิดแนะนำตัวเองด้วยการบอกชื่อขึ้นมาคุณควรจะจำให้ได้ แล้วต่อไปก็ต้องเรียกชื่อของเขา (ส่วนใหญ่คนสัมภาษณ์จะไม่ค่อยบอกชื่อตัวเอง)
คำถามยอดฮิต
1. ช่วยเล่าเกี่ยวกับตัวคุณให้เราฟัง
2. ทำไมคุณถึงคิดว่าเหมาะกับงานนี้
3. ตามความเข้าใจของคุณ คุณคิดว่าตำแหน่งนี้ต้องมีหน้าที่รับผิดชอบอะไรบ้าง
4. จุดมุ่งหมายระยะยาวในการทำงานของคุณ คืออะไร
5. จุดอ่อนและจุดแข็งของคุณคืออะไร
6. ทำไมคุณถึงออกจากงานเก่า
7. คุณรู้อะไรเกี่ยวกับบริษัทเราบ้าง
8. คุณวางแผนอย่างไรในอนาคต 3 ปีข้างหน้า
9. ทำไมเราควรจะจ้างคุณ
10. ทำไมคุณถึงคิดว่าคุณเหมาะกับงานนี้
11. คุณต้องการเงินเดือนเท่าไร
และมีคำถามอีกมากมาย แต่คุณเชื่อไหมคะว่าแท้จริงแล้ว มีอยู่เพียง 3 คำถามนี้เท่านั้นที่ผู้สัมภาษณ์ต้องการจะรู้จริง ๆ
1. คุณสามารถทำงานได้ไหม?
2. แล้วคุณจะรักงานที่คุณเลือกไหม?
3. คุณคิดว่าพวกเราจะยอมให้ทำงานกับคุณได้ไหม?
คุณลองย้อนคิดไปยังทุก ๆ คำถามที่คุณเคยถาม หรือถูกถามในการสัมภาษณ์งาน ถึงจะใช้ถ้อยคำหรือสำนวนที่ต่างกัน แต่สุดท้ายทั้งหมดที่เจ้าของหรือผู้สัมภาษณ์ต้องการรู้ ก็มีเพียงความมุ่งมั่น แรงจูงใจ และความเหมาะสม ของตัวคุณที่จะมาร่วมงานกับองค์กรเท่านั้นเอง
เมื่อการสัมภาษณ์สิ้นสุดลง
ก็ต้องกล่าวขอบคุณที่ให้โอกาส แม้ว่าการสัมภาษณ์อาจจะไม่เป็นที่พอใจเท่าใดนัก เช่น อาจตอบคำถามไม่ดี หรือมีข้อผิดพลาด พยายามข่มใจไว้ ไหว้งาม ๆ แล้วเดินออกไป อย่าลืมเก็บของเข้าที่ให้เรียบร้อย เช่น โต๊ะ เก้าอี้ อย่าลืมย้ำว่าคุณสนใจงานนี้อย่างมาก และอยากทราบว่าขั้นตอนต่อไปในการพิจารณาเป็นอย่างไร รวมทั้งจะทราบผลการพิจารณาเมื่อไร ขอนามบัตร หรืออย่างน้อยขอให้ผู้สัมภาษณ์งานสะกดชื่อ –นามสกุล เพื่อที่คุณจะส่งจดหมายขอบคุณการสัมภาษณ์งานมาในภายหลัง หลังจากนั้นจดบันทึกช่วยจำสั้น ๆ เกี่ยวกับการสัมภาษณ์งาน เพื่อที่คุณจะไม่ลืมรายละเอียดที่สำคัญต่าง ๆ ที่ได้พูดคุยกัน เมื่อกลับถึงบ้าน ควรเขียนจดหมายขอบคุณการสัมภาษณ์งานภายใน 24 ชั่วโมงหลังการสัมภาษณ์งาน
สิ่งที่บริษัทต้องการไม่ใช่แค่เพียงแต่ทักษะหรือความสามารถแต่เพียงอย่างเดียว แต่ต้องการความเป็นผู้นำและความเข้มแข็งด้วยเพราะทักษะหรือความสามารถที่มีเป็นเพียงเครื่องมือช่วยทำให้ถึงเป้าหมายได้เร็วขึ้นเท่านั้น
แต่ผู้สัมภาษณ์ไม่มีทางรู้เรื่องเหล่านี้ได้จากการอ่านแค่เรซูเม่ที่ส่งมา เขาจึงต้องถามจากเราทั้งเรื่องที่ประสบความสำเร็จ และจะถามไปอีกด้วยว่าถ้าสิ่งที่ทำอยู่มันไปได้ไม่ค่อยสวยแล้ว เราจะแก้ปัญหาได้อย่างไร หรือเลวร้ายที่สุด ถ้าเคยล้มเหลว เราได้เรียนรู้อะไรจากความผิดพลาดในครั้งนั้นบ้างหรือไม่คำถามเหล่านี้ไม่ได้พุ่งเป้าไปที่ความสามารถเฉพาะตัวเพียงอย่างเดียว แต่กลับมุ่งมองไปถึงความเข้มแข็งภายในจิตใจ หรือที่เราเรียกว่า EQ (Emotional Intelligence หรือ ความฉลาดทางอารมณ์) กรณีที่ต้องจัดการ หรือต้องติดต่อประสานงานกับคนอื่นๆคำถามกลุ่มนี้มักถามย้อนไปในอดีตการทำงานของเรา เราจึงควรเตรียมเล่าประสบการณ์เหล่านี้ในมุมมองที่น่าสนใจ ไม่ใช่เล่าไปเรื่อย ๆ แล้วปิดท้ายด้วยคำว่า “ก็ดีค่ะ” เท่านั้น เพราะนั่นเท่ากับว่าเราไม่ได้บอกในสิ่งที่ผู้สัมภาษณ์อยากรู้เลย
ถ้าจะรับคนระดับพนักงาน เรารู้ว่าเป็นธรรมดาที่เขาจะรักและให้ความสำคัญกับสภาพแวดล้อม บรรยากาศ รวมทั้งความท้าทายที่ในหน้าที่การงาน ก่อนความเรียกร้องให้ทุ่มเททำงานหนักเพื่อองค์กร (ทั้งที่เราก็ต้องการ) แต่ถ้าเรากำลังเฟ้นหาผู้บริหาร เราอยากเจอตัวคนที่ปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมองค์กรได้ (ถ้า “ปรับได้ง่าย” ก็จะยิ่งได้เปรียบ) และเราอยากได้คนที่มีวุฒิภาวะพอจะวิเคราะห์และเข้าใจสถานการณ์ต่างๆ ของบริษัทได้ และพึ่งพาได้ในยามยาก
แต่คุณรักที่จะเป็นคนอย่างนั้นไหม? แน่นอนผู้จ้างย่อมอยากได้คนที่มั่นใจได้ว่าเขาจะไม่ลาออกทันทีภายในสามถึงห้าวัน ทำให้เขามั่นใจ ว่าแม้วันนี้คุณอาจจะยังไม่พร้อมหรือไม่เคยถูกใครเรียกร้องสิ่งเหล่านี้มาก่อน แต่คุณปรับตัวได้ ผู้สัมภาษณ์ทุกคนมีแนวโน้มจะเชื่อมั่นในศักยภาพของคนทุกคน ถ้า... สิ่งที่คุณพูดนั้นคือสิ่งที่เป็นไปได้จริง
เมื่อแอบรู้ความลับนี้แล้ว ก็อย่าลืมเตรียมคำตอบที่เหมาะสมเพื่อเตรียมเล่าให้ผู้สัมภาษณ์รู้จักคุณได้ดีขึ้นไปด้วยเสมอ แล้วการสัมภาษณ์ก็จะไม่ได้เป็นอุปสรรคสำคัญอีกต่อไป และสำหรับผู้สัมภาษณ์ ดิฉันหวังว่าคุณจะได้ไอเดียเกี่ยวกับการสัมภาษณ์ด้วยเช่นเดียวกัน
ภาพจาก http://www.today.com/
Admin : Gossy